วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กุหลาบ(rose)

  เคยได้ยินคำเปรียบเปรยไหมที่ว่า ผู้หญิงสวยแต่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมก็เปรียบได้ดัง "ดอกกุหลาบ" เพราะดอกกุหลาบนั้น แม้จะมีรูปร่างภายนอกที่สวยงามรวมถึงกลิ่นที่หอมชวนดม แต่มันก็มีหนามแหลม หากไม่ระวังอาจโดนบาดได้ง่าย ๆ

          กุหลาบนั้นมีชื่อสามัญว่า "Rose" ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า "Rosa hybrids" และมีชื่อวงศ์ว่า"Rosaceae" ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ลักษณะของกุหลาบนั้นมีทั้งไม้พุ่มและไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งจะมีหนาม ส่วนดอกของกุหลาบจะมีทั้งดอกเดี่ยวและเป็นช่อ กลีบดอกมีลักษณะใหญ่ มีไม่ต่ำกว่า 5 กลีบ กุหลาบนั้นมีกลิ่นหอมชวนดม และมีหลายสี เช่น แดง ขาว เหลือง ชมพู ฯลฯ อีกทั้งยังมีหลายชนิดด้วย

          ซึ่งคำว่ากุหลาบนั้นมาจากคำว่า "คุล" ที่ในภาษาเปอร์เซียแปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" โดยในภาษาฮินดีก็มีคำว่า "คุล" แปลว่า "ดอกไม้" และคำว่า "คุลาพ" ก็หมายถึงกุหลาบอย่างที่ไทยเราเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น "กุหลาบ" ส่วนคำว่า "Rose" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า"Rhodon" ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก


ดอกกุหลาบ

          โดยกุหลาบเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกมาแต่โบราณ ว่ากันว่ากุหลาบเกิดขึ้นเมื่อ 70 ล้านปีมาแล้ว และเคยมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแต่ก่อนกุหลาบนั้นเป็นกุหลาบป่าและมีรูปร่างไม่เหมือนในทุกวันนี้ แต่เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูกและผสมพันธุ์จนขยายเป็นพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย

          ตามประวัติศาสตร์เล่าว่ากุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิ์ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอกส่งไปขายให้แก่ชาวโรมัน เพราะชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมาก แม้ว่าจะสั่งซื้อจากประเทศอียิปต์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังลงทุนสร้างสถานที่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกดอกกุหลาบอีกด้วย เพราะสำหรับชาวโรมันแล้วดอกกุหลาบนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน อีกทั้งชาวโรมันถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เป็นทั้งของขวัญ และเป็นดอกไม้สำหรับทำมาลัยต้อนรับแขก รวมถึงเป็นดอกไม้สำหรับงานฉลองต่าง ๆ แถมยังเป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนม ทำไวน์ และยาได้อีกด้วย

          และเมื่อเอ่ยถึงดอกกุหลาบแล้ว หลาย ๆ คนก็คงจะนึกถึงเรื่องความรัก เพราะกุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความโรแมนติก โดยมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของ เทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงามและความรัก วีนัสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อโฟรไดท์ ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของ อโฟรไดท์ เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม 

          แม้จะไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจนว่าดอกกุหลาบนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับบ้านเราตอนไหน แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่าเห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ก็ได้มีการกล่าวถึงกุหลาบเอาไว้ และยังมีตำนานดอกกุหลาบของไทยที่เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มาก แต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาปให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา

          โดยดอกกุหลาบนั้นสามารถสื่อความหมายได้หลายอย่าง อาทิ
ดอกกุหลาบ 

 สีกุหลาบสื่อความหมาย

           สีแดง สื่อความหมายถึง ความรักและความปราถนา เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอส เป็นสิ่งนำโชคนำความรักมาให้แก่หญิงหรือชายที่ได้รับ

           สีชมพู สื่อความหมายถึง ความรักที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์

           สีขาว สื่อความหมายถึง ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพ และความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิงหรือชายเช่นเดียวกับกุหลาบแดง

           สีเหลือง สื่อความหมายถึง เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอนะ

           สีขาวและแดง สื่อความหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

           สีส้ม สื่อความหมายถึง ฉันรักเธอเหมือนเดิม

ดอกกุหลาบ
จำนวนกุหลาบสื่อความหมาย

          1 ดอก รักแรกพบ
          2 ดอก แสดงความรู้สึกที่ดีให้กัน
          3 ดอก ฉันรักเธอ
          7 ดอก คุณทำให้ฉันหลงเสน่ห์
          9 ดอก เราสองคนจะรักกันตลอดไป
          10 ดอก คุณเป็นคนที่ดีเลิศ
          11 ดอก คุณเป็นสมบัติชิ้นที่มีค่าชิ้นเดียวของฉัน
          12 ดอก ขอให้เธอเป็นคู่ของฉันเพียงคนเดียว
          13 ดอก เพื่อนแท้เสมอ
          15 ดอก ฉันรู้สึกเสียใจจริงๆ
          20 ดอก ฉันมีความจริงใจต่อเธอ
          21 ดอก ชีวิตินี้ฉันมอบเพื่อเธอ
          36 ดอก ฉันยังจำความหลังอันแสนหวาน
          40 ดอก ความรักของฉันเป็นรักแท้
          99 ดอก ฉันรักเธอจนวันตาย
          100 ดอก ฉันอุทิศชีวิตนี้เพื่อเธอ
          101 ดอก ฉันมีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้น
          108 ดอก คุณจะแต่งงานกับฉันไหม
          999 ดอก ฉันจะรักคุณจนวินาทีสุดท้าย
 ดอกกุหลาบ

ดอกดาวเรือง

        ดาวเรือง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tagetes erecta L.; ชื่อสามัญ: Marigold) คำปู้จู้ คำปู้จู้หลวง (พายัพ) บ่วงสิ่วเก็ก เฉาหู้ยัง กิมเก็ก (จีน)ดาวเรืองนิยมปลูกตัดดอก เป็นดาวเรืองในกลุ่ม African หรือ American marigold เป็นพันธุ์ดอกใหญ่ พันธุ์ที่ใช้เป็นการค้าในประเทศไทยได้แก่พันธุ์ซอเวอร์เรน (soverign) นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ใหม่ๆที่นำเข้ามาได้แก่ พันธุ์จาไมก้า (jamaica) และอื่นๆ อีกหลายพันธุ์
      ดาวเรือง เป็นไม้ดอกที่คนไทยนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากเมล็ดมีขนาดใหญ่ปลูกง่าย งอกเร็ว ต้นโตเร็ว และแข็งแรงไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงรบกวน ให้ดอกเร็ว ดอกดก มีหลายชนิดและหลายสี รูปทรงของดอกสวยงาม สีสันสดใส บานทนนานหลายวัน สามารถปักแจกันได้นาน 1-2 สัปดาห์ ให้ดอกในระยะเวลาสั้น คือ ประมาณ 60-70 วัน หลังปลูก ดังนั้นในการปลูกดาวเรืองสามารถกำหนดระยะเวลาการออกดอกให้ตรงกับเทศกาลสำคัญได้จึงมีผู้นิยมปลูก และใช้ดาวเรืองกันมาก นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ตลอดปี และปลูกได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกสูง ในปัจจุบันการปลูกดาวเรืองนอกจากปลูกเพื่อตัดดอกขายแล้ว ยังนิยมปลูกในกระถางหรือถุงพลาสติก เพื่อประดับตกแต่งอาคารสถานที่ และปลูกเพื่อตัดดอกส่งโรงงานอาหารสัตว์อีกด้วย
     การปลูกดาวเรืองในประเทศไทย เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทราบเพียงว่าดาวเรืองไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย แต่มีการนำเข้าพันธุ์ดาวเรืองจากต่างประเทศมาปลูกเป็นเวลานานจนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ดี มีการกระจายตัวขอสายพันธุ์มากทั้งทางด้านรูปทรงดอก ขนาดดอก ลักษณะการเจริญเติบโต ตลอดจนการต้านทานต่อโรคและแมลง ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกดาวเรืองประมาณ 4,000 ไร่ มีแหล่งปลูกทีสำคัญ คือ จังหวัดพะเยา ลำปาง นนทบุรี กรุงเทพฯ ราชบุรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุดรธานี 
ดาวรวย ดาวเรือง ข้อมูลพื้นฐานของดอกดาวเรือง 
ดอกดาวเรืองชนิดต่างๆ

ชนิดของดาวเรือง


   ดาวเรืองที่ปลูกกันอยู่โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

   1. ดาวเรืองอเมริกัน (American Marigolds) เป็นดาวเรืองที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกา ลำต้นสูงตั้งแต่ 10-40 นิ้ว ดอกสีเหลือง ส้ม ทอง และขาว กลีบ ดอกซ้อนกันแน่น ดอกมีขนาดใหญ่ประมาณ 3-4 นิ้ว ดาวเรืองชนิดนี้มีหลายพันธุ์ ได้แก่

      พันธุ์เตี้ย สูงประมาณ 10-14 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์ ปาปาย่า (papaya) ไพน์แอปเปิล (pineaple) ปัมพ์กิน (Pumpkin) เป็นต้น

      พันธุ์สูงปานกลาง สูงประมาณ 14-16 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์อะพอลโล (Apollo) ไวกิ่ง (Ziking) มูนช๊อต (Moonshot) เป็นต้น

      พันธุ์สูง สูงประมาณ 16-36 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์ดับเบิล อีเกิล (Double Egle) ดับบลูน (Doubloon) ซอฟเวอร์เรน (Sovereign) เป็นต้น

   2. ดาวเรืองฝรั่งเศส (French Marigolds) ดาวเรืองฝรั่งเศสเป็นดาวเรืองต้นเล็ก ต้นเป็นพุ่มเตี้ย ๆ สูงประมาณ 6-12 นิ้ว ดอกสีเหลือง ส้ม ทอง น้ำตาลอมแดง และสีแดง ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1.5 นิ้ว นิยมปลูกประดับในแปลงมากกว่าปลูกเพื่อตัดดอก เนื่องจากมีก้านดอกสั้น นอกจากนี้ยังเป็นดาวเรืองที่สามารถลดปริมาณไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดอาการรากปมในรากพืชได้ ตัวอย่างดาวเรืองฝรั่งเศส ได้แก่

    พันธุ์ดอกชั้นเดียว ดอกมีขนาด 1.5-2 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์เรด มาเรตต้า (Red Marietta) นอธตี้ มาเรตต้า (Naughty Marietta) เอสปานา (Espana) ลีโอปาร์ด (Leopard) เป็นต้น

    พันธุ์ดอกซ้อน ดอกมีขนาดตั้งแต่ 1.5-3 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์ควีน โซเฟีย (Queen Sophia ) สการ์เลต โซเฟีย (Scarlet Sophia) โกลเด้น เกต (Golden Gate ) เป็นต้น

   3. ดาวเรืองพันธุ์ลูกผสม (Mule Mariglds หรือ Afro American Marigolds) เป็นดาวเรืองลูกผสมระหว่างดาวเรืองอเมริกันและดาวเรืองฝรั่งเศส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำลักษณะความแข็งแรง ดอกใหญ่ และมีกลีบซ้อนมากของดาวเรืองอเมริกัน รวมเข้ากับลักษณะต้นเตี้ยทรงพุ่มกะทัดรัดของดาวเรืองฝรั่งเศส ดาวเรืองลูกผสมให้ดอกเร็วมาก คือเพียง 5 สัปดาห์หลังจากเพาะเมล็ดดอกมีขนาด 2-3 นิ้ว ดอกดกและอยู่กับต้นได้ดี ดาวเรืองชนิดนี้มีข้อเสียก็คือเมล็ดจะลีบ ไม่สามารถนำมาเพาะให้เป้นต้นใหม่ได้จึงเรียกว่า ดาวเรืองล่อ เช่นเดียวกับการผสมม้ากับลา มีลูกออกมาเรียกว่า ล่อ ซึ่งเป็นหมัน จึงทำให้เมล็ดมีราคาแพงมาก และการปลูกดาวเรืองด้วยเมล็ดชนิดนี้ จึงควรใช้เมล็ดเป็นปริมาณ 2 เท่าของจำนวนที่ต้องการ เนื่องจากเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ

    ดาวเรืองลูกผสมที่นิยมปลูกมีอยู่หลายพันธุ์ คือ พันธุ์นักเก็ต (Nugget) ไฟร์เวิร์ก (Fireworks) เรด เซเว่น สตาร์ (Red Sevenstar) และโชว์โบ๊ต (Showboat)

การขยายพันธุ์ดาวเรือง


       ทำได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ แต่วิธีที่นิยมทำคือ การใช้เมล็ด เพราะได้จำนวนมากกว่า โดยนำเมล็ดดาวเรืองมาเพาะในกระบะเพาะ ซึ่งมีวัสดุเพาะ คือ ขุยมะพร้าว ทราย  ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 1:1:1:1 หรือแปลงเพาะที่มีดินร่วนซุยค่อนข้างละเอียด คราดดินให้ผิวดินเรียบสม่ำเสมอ ทำร่องบนกระบะเพาะหรือแปลงเพาะให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร แต่ละร่องห่างกัน 5 เซนติเมตร หยอดเมล็ดลงร่องห่างกัน 1-2 นิ้ว แล้วกลบแต่ละร่องด้วยวัสดุเพาะ หรือดินละเอียดเพียงบางๆ รดน้ำด้วยฝักบัวฝอยให้ชุ่ม แล้วคลุมกระบะเพาะด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือคลุมแปลงเพาะด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง  ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เพื่อรักษาความชื้น เมล็ดดาวเรืองจะงอกภายใน 3-5 วัน เป็นต้นกล้า
ดาวเรือง
ทุ่งดอกดาวเรือง

การปลูกดาวเรือง


    1.    ไถเตรียมดิน หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไป ประมาณ 1 ตัน/ไร่ ยกร่องแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร รดน้ำแปลงไว้ล่วงหน้า 1 วัน

    2.    ขุดหลุมกว้าง 15 เซนติเมตร แปลงละ 3 แถว ระยะระหว่างแถว 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยทริบเบิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟส หรือสูตร 15-15-15 ประมาณ 1    ช้อนชา รองก้นหลุม แล้วเกลี่ยดินข้างหลุมมากลบปุ๋ยเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้รากดาวเรืองสัมผัสปุ๋ยโดยตรง

    3.    นำต้นกล้าที่มีอายุ 7-10 วัน ( นับจากวันเพาะเมล็ด ) โดยแยกต้นกล้าให้มีวัสดุเพาะ หรือดินหุ้มติดรากมาด้วย เพื่อป้องกันรากกระทบกระเทือน นำมาปลูกในแต่ละหลุมที่เตรียมไว้ รดน้ำให้ชุ่ม

    4.    หลังจากนั้น ต้องรดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 7 วัน ซึ่งต้นกล้า จะตั้งตัวได้ดี แล้วจึงรดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า ในช่วงที่ดอกดาวเรืองเริ่มบานไม่ควรรดน้ำให้โดนดอก เพื่อป้องกันดอกเป็นโรค

    5.    เมื่อดาวเรืองอายุ 15 และ 25 วัน ควรใส่ปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 1 ช้อน : ต้น เมื่ออายุ 35 และ 45 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ในอัตราเดียวกัน  โดยวิธีฝังลงในดินตื้นๆ ประมาณ ?  นิ้ว ห่างโคนต้น 6 นิ้ว แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ย

    6.    ช่วงดาวเรืองอายุ 21-25 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ต้นมีใบจริงขนาดใหญ่ ประมาณ 4 คู่ และส่วนยอดมีใบเล็กๆ 1-2 คู่ จะต้องปลิดยอดทิ้งเพื่อให้แตกกิ่งข้าง โดยใช้มือซ้ายจับคู่ใบบนสุดที่จะเหลือไว้ แล้วใช้มือขวาดึงส่วนยอดลงทางด้านข้างจนหลุดออกมา หลังจากนั้น 5-7 วันตาข้างจะเริ่มแตกและเจริญเป็นกิ่งใหม่ ซึ่งจะติดตุ่มดอกทั้งที่ตายอดปลายกิ่งและตาข้าง

    7.    หลังจากปลูก 40-45 วันในแต่ละกิ่ง เมื่อดอกยอดมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพดดอกข้างมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ต้องรีบปลิดดอกข้างออกให้หมดภายใน 2-3 วัน คงเหลือดอกยอดไว้ดอกเดียว  เพื่อให้ดอกมีขนาดใหญ่

    8.    หลังจากนั้นประมาณ 20 วัน ( อายุ 60-65 วัน ) ก็ตัดดอกไปจำหน่ายได้ ซึ่งจะได้ประมาณ 10-12 ดอก/ต้น

โรคและแมลงที่สำคัญต่อดาวเรือง


   1. โรคเหี่ยว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอรา (Phytoptora) มักเกิดกับดาวเรืองที่ดอกกำลังเริ่มทยอยบาน ระยะแรกมีอาการคล้ายกับดาวเรืองขาดน้ำ กล่าวคือ อาการเหี่ยวจะแสดงในตอนกลางวันส่วนกลางคืนอาการจะปกติ หลังจากนั้นประมาณ 3 -4 วัน ดาวเรืองก็จะเหี่ยวทั้งด้นและตายไปในที่สุด
    การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็ป ฉีดพ่นสลับกับคาร์เบนดาซิมประมาณสัปดาห์ละครั้ง และถ้าพบมากต้นที่เป็นโรคและตายในแปลงต้องรีบกำจัดทิ้ง

   2. โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งลักษณะอาการ คือจะเห็นสปอร์ของเชื้อราเป็นฝุ่นสีขาว ๆ ตามใบของดาวเรือง ทำให้ใบหยิก การเจริญเติบโตชะงัก ถ้าเป็นมากอาจทำให้ต้นตายในที่สุด
    การป้องกันกำจัด โดยการพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็ป ไดแทน-เอ็ม 45 ประมาณสัปดาห์ละครั้ง

   3. โรคดอกไหม้ เกิดเชื้อราเข้าทำลายดอกดาวเรือง ทำให้ดอกเป็นสีน้ำตาลจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้
    การป้องกันกำจัด ควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซ็ปหรือดาโคนิล โดยฉีดพ่นให้ทั่วทั้งแปลง

   4.  เพลี้ยไฟ เข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและใบอ่อน จะเห็นมีรอยขีดตามใบหรือกลีบเลี้ยงของดอก เพลี้ยไฟจะระบาดมากในช่างฤดูร้อน
    การป้องกันกำจัด ใช้สารเทมมิค เอ จี (Temic A.G.) ฝังรอบ ๆ โคนต้น โดยฝังให้ห่างโคนต้นประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือฉีดพ่นด้วยสารโตกุไธออนสัปดาห์ละครั้ง

   5.  หนอนกระทู้หอม เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน จะเข้าทำลายในขณะที่ดอกดาวเรืองเริ่มบานหนอนจะกัดกินดอกดาวเรือง ทำให้ดอกแหว่งเสียหาย
    การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น แลนเนท, แคสเคต หรือใช้เชื้อไวรัสทำลายแมลงพวกเอ็น.พี.วี (NPV) ฉีดพ่นในแปลงที่มีหนอนกระทู้หอมระบาด

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดอกกล้วยไม้

 
                                                                    
          กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orchidaceae เป็นไม้ตัดดอกยอดนิยม เนื่องจากมีลักษณะดอก และสีสันลวดลายสวยงาม เป็นไม้ตัดดอกที่มีอายุการใช้งานได้นาน กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เพราะเป็นไม้ส่งออกขายต่างประเทศทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท มีการปลูกเลี้ยงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผสมเกสร เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลี้ยงลูกกล้วยไม้ เลี้ยงต้นกล้วยไม้จนกระทั่งให้ดอก ตัดดอกบรรจุหีบห่อ และส่งออกเอง

          แหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าที่สำคัญของโลกมี 2 แหล่งใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ลาตินอเมริกา กับเอเชียแปซิฟิค สำหรับในลาตินอเมริกาเป็นอาณาบริเวณอเมริกากลางติดต่อกับเขตเหนือของอเมริกาใต้

           ส่วนแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิค มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง จากการค้นพบประเทศไทยมีพันธุ์กล้วยไม้ป่าเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้มาก และกล้วยไม้ป่าที่ในพบในภูมิภาคแถบนี้มีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างจากกล้วยไม้ในภูมิภาคลาตินอเมริกา
 
ลักษณะทั่วไปของกล้วยไม้
            กล้วยไม้เป็นพืชที่มีรากกึ่งอากาศ ลำต้นที่เห็นโผล่พ้นจากเครื่องปลูกแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ ลำต้นแท้จริง มีข้อ ปล้อง เหมือนพืชทั่ว ๆ ไป ที ่ข้อมีตาซึ่ง สามารถเจริญเป็นหน่อใหม่หรือช่อดอก กล้วยไม้ประเภทนี้ได้แก่ สกุลแวนด้า แมลงปอ อีกประเภทหนึ่งเป็นลำต้นเทียม เรียกว่า ลำลูกกล้วย (pseudobulbs) ทำหน้าที่สะสมอาหาร ตาที่อยู่ตามข้อบน ๆ ของลำลูกกล้วยสามารถแตกเป็นหน่อหรือช่อดอกได้ ลำต้นที่แท้จริงของกล้วยไม้ประเภทนี้ คือ เหง้า (rhizome) ซึ่งเจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก ลักษณะของเหง้ามีข้อและปล้องถี่ กล้วยไม้ในกลุ่มนี้ได้แก่ สกุลหวาย ใบกล้วยไม้มีหลายลักษณะ ได้แก่ ใบ แบน, ใบกลม และใบร่อง สำหรับดอกกล้วยไม้ประกอบด้วย กลีบดอก 6 กลีบ โดยเป็นกลีบดอกชั้นนอก 3 กลีบ และกลีบดอกชั้นใน 3 กลีบ กลีบชั้นนอก 2 กลีบที่อยู่ด้านข้างหรือด้านล่าง มีลักษณะเหมือนกันอีก 1 กลีบ อยู่ด้านบน อาจมีลักษณะแตกต่างออกไป ส่วนกลีบชั้นในที่อยู่ด้านข้าง 2 กลีบ มีลักษณะ เหมือนกันอีก 1 กลีบ ที่อยู่ด้านล่างมีลักษณะแตกต่างไปเรียกว่าปากหรือกระเป๋า (lip) ซึ่งมีประโยชน์สำหรับล่อเมลงเพื่อช่วยผสมพันธุ์ ดอก กล้วยไม้เป็นดอก สมบูรณ์เพศ มีส่วนของก้านเกสรตัวผู้ ก้านและยอดเกสรตัวเมียรวมเป็นอวัยวะเดียวกันเรียกว่า เส้าเกสร โดยอับเกสรตัวผู้อยู่ที่ส่วนปลายเส้าเกสรและยอด เกสรตัวเมียอยู่ใต้อับเรณู ลักษณะเป็นแอ่งตื้น ๆ ภายในมีเมือกเหนียวเพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ สำหรับรังไข่ของดอกกล้วยไม้อยู่ตรงส่ว นของก้านดอก

ดอกบัว(lotus)






           “บัว”   เป็นสัญลักษณ์แห่งความงามของไม้น้ำไทยในวงศ์  Nymphaeaceae  มีความโดดเด่นด้วยดอกและใบที่เบ่งบานชูช่ออยู่เหนือน้ำเปรียบประดุจดังหญิงสาว  ซึ่งมีที่มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษ  จากคำว่า “Nymph”  แปลว่า “เทพธิดาที่อยู่ในน้ำ” (A Beautiful Young Woman)    
           บัว เป็นพืชน้ำล้มลุก ลักษณะลำต้นมีทั้งที่เป็นเหง้า ไหล หรือหัว ใบเป็นใบเดี่ยวจริญขึ้นจากลำต้น โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีหลายแบบ บางชนิดมีก้านใบบัว
       บัวเป็นราชินีแห่งไม้น้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ถือเป็นสัญญลักษณ์ของคุณงามความดี บัวหลวงชอบขึ้นในน้ำจืดออกดอกตลอดปี ชอบน้ำสะอาด อยู่ในน้ำลึกพอสมควร ถิ่นกำเนิดของบัวอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมือนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ สีขาวอมเขียวหรือสีเทาชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนหลายสี
           บัวมีมาตั้งแต่ สมัยพุทธกาล ซึ่งมีตำนานกล่าวว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ปรุงยาจากดอกบัว ถวายแด่ องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า แก้อาการอ่อนเพลีย ถือว่าดอกบัวเป็น ดอกไม้ประจำศาสนาพุทธ ตามพุทธประวัติพบว่า บัวมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเมื่อ ได้ทรงตรัสรู้แล้ว แต่เนื่องจากพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อน สุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้ง แล้วทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัวสี่เหล่า
     คนไทยส่วนใหญ่มักจะใช้ดอกบัว ในการบูชาพระอยู่เสมอ แต่บัวที่เรานิยมปลูกไว้ภายในบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล คือ บัวหลวง บัวผัน บัวฝรั่ง บัวสาย และบัวกระด้ง
     ความเชื่อในทางพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยโบราณว่า ดอกบัวก็เหมือนกับคนเรานี้เอง ดอกบัวที่ชูดอกพ้นจากผิวน้ำขึ้นมารับแสงสว่างได้นั้น ก็เหมือนกับ ผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ซึ่งถือเป็นความหมายอันลึกซึ้ง และเป็นมงคลยิ่งนัก
    คนโบราณจึงมึความเชื่อว่า ครอบครัวใดที่ปลูกบัวเอาไว้ประจำบ้าน ก็จะช่วยให้คนครอบครัวนั้น มีจิตใจที่บริสุทธิ์ สะอาด และเบิกบานแจ่มใส เช่นเดียวกับดอกบัว และยังเชื่ออีกว่า สายใยของบัวที่ยืดยาวนั้น คือสายสัมพันธ์ของครอบครัว จะทำให้ทุกคนมีความห่วงใยรักใคร่ และผูกพันต่อกันอย่างแนบแน่น ครอบครัวนั้น ก็จะมีแต่ความสุข เพราะความรักใคร่ปรองดองของคนในครอบครัวทุกคน
       ควรปลูกต้นบัวในวันพุธ เพราะวันพุธนั้น เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม ต้นบัวที่ปลูกในวันพุธ จะทำให้บัวผลิดอกบานสะพรั่งงดงามไปทั่วทั้งสระ
         ผู้ที่เหมาะที่จะปลูกบัวมากที่สุด คือ ผู้ที่เกิดปีจอ เพราะต้นบัวนั้น เป็นต้นไม้ประจำปีของคนเกิดปีจอ หากผู้ที่เกิดปีจอเป็นผู้ปลูก และมีผู้ที่เกิดปีเดียวกันอาศัยอยู่ภายในบ้าน ก็จะช่วยเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้มากยิ่งขึ้นไปอีก (ถ้าไม่มีผู้ที่เกิดปีจอ ก็ควรให้หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ปลูกก็ได้)

ดอกทิวลิป(TULIP)

 

ทิวลิป  เป็นดอกไม้ยอดนิยมของฤดูใบไม้ผลิมาตลอด  และเป็นดอกไม้ยอดนิยม อันดับสามรองลงมาจาก  กุหลาบและเบญจมาศ เชื่อกันว่า  ถิ่นกำเนิดของดอกทิวลิป มาจากตะวันออกกลาง   เมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมาแล้ว ดอกทิวลิปเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ตุรกี และจากความเชื่ออีกเรื่องหนึ่งคือ ชื่อของดอกไม้ชนิดนี้ได้มีคำที่เหมือน กับเครื่องสวมศีรษะของชาวเปอร์เซียที่เรียกว่า turban และสามารถเขียนได้เป็น “toliban” ในภาษาละติน และ “tolipa”และ สุดท้ายจึงกลายมาเป็น tulip
ดอกทิวลิป เป็นสัญลักษณ์ของ  จินตนาการ   ความใฝ่ฝัน คู่รักที่สมบูรณ์แบบ  และ ความรักที่เปิดเผย
ดอกทิวลิปแดง     หมายถึงรักที่ไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เปิดเผยอย่างจริงใจ  เหมาะสำหรับเป็นของขวัญ แด่คนรักของคุณ  ดอกทิวลิปยังเป็นต้นไม้ตามหลักฮวงจุ้ยที่เหมาะแก่การปลูกในบ้าน เชื่อกันว่า ดอกทิวลิปแดง  จะนำชื่อเสียงและเกียรติยศเข้ามาในชีวิตเราได้
ดอกทิวลิปชมพู    ดอกสีชมพูเป็นดอกยอดนิยมแทบจะทุกโอกาส   สีชมพูนั้นเปรียบเสมือน ความสุขอันสมบูรณ์แบบ และความมั่นใจ และเนื่องจากดอกทิวลิปมีลักษณะดอกที่ใหญ่  ช่อชูดอกให้เห็นชัดเจนและต้นของมันมักจะให้ดอกเดี่ยว ทำให้ดอกทิวลิป มีความหมายอีกแง่หนึ่ง  คือ   “ คนที่เปิดเผย ไม่ปิดบัง” อีกด้วย
ดอกทิวลิปสีเหลือง    ดอกสีเหลืองนั้นเมื่อก่อนมีความหมายว่า  รักที่หมดหวัง แต่ในปัจจุบัน  มีความหมายว่า ความคิดอันเบิกบาน และแสงตะวันส่อง ด้วยเหตุผลของความหมายอันหลากหลายนี้เองทำให้ดอกทิวลิปยังคงได้รับความนิยม อยู่เสมอ
ดอกทิวลิปสีส้ม    สีส้มของดอกทิวลิปนั้นสื่อถึงความอบอุ่น  ความสุข  ความงดงาม  และความมีเสน่ห์
ดอกทิวลิปสีผสม    ประเทศฮออลแลนด์ เป็นประเทศที่คลั่งไคล้ดอกทิวลิปเป็นอย่างมาก  ดูได้จากศตวรรษที่ 17  ดอกทิวลิป  มีค่าแทนเงินเลยทีเดียว  จนกระทั่งดอกทิวลิป  กลายเป็นดรรชนีชี้วัดความมั่งคั่ง  และชื่อเสียง ของชาวฮอลแลนด์  เสมอมา ในยุค  “ตื่นทิวลิป”   ซึ่งอยู่ในช่วงปี 1634 – 1637 ทิวลิปเป็นสัญลักษณ์  ของจินตนาการ   ความใฝ่ฝัน   รักที่สมบูรณ์แบบ และความรักอันเปิดเผย